กว่าจะมาเป็น

กว่าจะมาเป็นหอประชุมกองทัพเรือ

โดย  แก้วนวล

     ปัจจุบันเรามักได้ทราบข่าวว่า มีกิจกรรมต่าง ๆ จัดขึ้นที่หอประชุมกองทัพเรืออยู่เสมอซึ่งมักเป็นกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร การแถลงแนวทางดำเนินการทางเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี หรือที่เรียกกันว่ามาตรการมงฟอร์ต และการจัดงานเลี้ยงเนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นสถานที่จัดการประกวดนางงามจักรวาล เป็นต้น

     ผู้เขียนเชื่อว่า ทหารเรือที่ได้ทราบข่าวกิจกรรมที่จัดที่หอประชุมกองทัพเรือมีความภาคภูมิใจที่สถานที่ของกองทัพเรือได้รับการพิจารณาให้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมสำคัญอยู่เสมอ จนทำให้คำว่า “กองทัพเรือ” เป็นที่กล่าวถึงเสมอ ดังนั้น จึงสมควรที่ทหารเรือจะได้ทราบความเป็นมา และการดำเนินการที่พวกเราทหารเรือได้บากบั่นต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ จนทำให้มีหอประชุมที่สวยงามแห่งนี้

     ก่อนหน้าที่จะมีการก่อสร้างหอประชุมกองทัพเรือ ทหารเรือเป็นเหล่าเดียวที่ยังไม่มีหอประชุมในระดับกองทัพ จึงเกิดความปรารถนาที่อยู่ในใจอยู่เสมอว่าเมื่อใดหอประชุมกองทัพเรือจะเกิดขึ้น มีการพูดกันเรื่องนี้อยู่เนือง ๆ จนเมื่อรัฐบาลชุดที่ ๑ ของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร มีดำริในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก ๒๐๐๓ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการประชุมด้านต่าง ๆ หลายคณะ จึงเป็นโอกาสที่กองทัพเรือซึ่งมี พลเรือเอก ประเสริฐ บุญทรง(ผู้บัญชาการทหารเรือ ในขณะนั้น) ได้เสนอให้มีการก่อสร้างหอประชุมกองทัพเรือที่บริเวณกรมสารวัตรทหารเรือ ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง และมีทัศนียภาพที่สวยงามน่าประทับใจที่สุด สามารถใช้ในการจัดกิจกรรมเอเปกได้อย่างเหมาะสม โดยผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ไปชี้แจงต่อคณะกรรมการ ฯ ด้วยตนเอง เป็นผลให้รัฐบาลเห็นพ้องให้ใช้หอประชุมกองทัพเรือที่จะก่อสร้างเป็นที่จัดงานกาล่าดินเนอร์ และยังได้ให้กองทัพเรือ ซ่อมปรับปรุงอาคารราชนาวิกสภาเป็นสถานที่ชมกระบวนพยุหยาตราชลมารค โดยสนับสนุนงบประมาณดำเนินการวงเงิน ๔๙๙.๕ ล้านบาท นับเป็นความสำเร็จแรกที่เกิดขึ้น ทหารเรือที่ทราบข่าวต่างมีความปีติยินดีกันทุกคน

     แต่ภายใต้ความสำเร็จในเบื้องต้นกองทัพเรือก็ต้องรับผิดชอบในการก่อสร้างหอประชุม และอาคารสิ่งปลูกสร้าง ไม่ใช่เพื่อให้ทันเวลาเพียงอย่างเดียว  แต่ต้องให้สวยงาม เหมาะสมที่ใช้จัดกิจกรรมระดับนานาชาติ ภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ มากมายด้วย ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวถึงในเบื้องลึกถึงความเป็นไปของเรื่องต่าง ๆ ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่ได้รับทราบ รับรู้ ทั้งเพื่อเป็นการบันทึกไว้ให้เป็นบทเรียน เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อไป

      การก่อสร้างนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในห้วงเวลาที่ พลเรือเอก ทวีศักดิ์ โสมาภา เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ความคล่องตัว ผู้บัญชาการทหารเรือได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารของกองทัพเรือ เพื่อรองรับการจัดประชุมเอเปก ๒๐๐๓ เรียกชื่อย่อว่า คอป. มี พลเรือโท นิพนธ์ จักษุดุลย์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารเรือฝ่ายยุทธบริการขณะนั้น เป็นประธาน มีกรรมการทั้งสิ้น ๑๗ นาย จากหน่วยเกี่ยวข้องทั้งจากกรมฝ่ายอำนวยการ กรมช่างโยธาทหารเรือ คณะกรรมการดังกล่าว ซึ่งต่อไปขอเรียกสั้น ๆ ว่า คอป. ได้มีการประชุมกันโดยใช้ห้องประชุมกรมช่างโยธาทหารเรือเป็นสถานที่ประชุม สัปดาห์ละ ๒ – ๓ ครั้งในบางห้วงก็ประชุมทุกวัน ระหว่างเวลาประมาณ ๑๘๓๐ – ๒๑๓๐ ตลอดห้วงเวลาเกือบ ๑ ปี ที่ก่อสร้าง สาเหตุที่ต้องประชุมในห้วงเวลาค่ำ ก็เพื่อให้ผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างและงานเกี่ยวข้องต่าง ๆ สามารถปฏิบัติงาน ในเวลากลางวันได้โดยไม่ต้องปลีกตัวมาประชุม

      นอกจากนี้ กรมช่างโยธาทหารเรือซึ่งมี พลเรือตรี วีระพันธ์ งอกงาม(ยศขณะนั้น) เป็นเจ้ากรมฯ ได้จัดตั้งศูนย์จัดการงานก่อสร้างอาคารของกองทัพเรือสำหรับการประชุมเอเปก ๒๐๐๓ (ศจก.ชย.ทร.APEC 2003) มีสถาปนิก วิควกรของกรมช่างโยธาทหารเรือ จำนวน ๒๙ นาย เป็นเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินงานด้านการช่างโยธาในความรับผิดชอบให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

     พื้นที่ก่อสร้างอาคารหอประชุม และอาคารราชนาวิกสภานั้น ไม่ได้เป็นพื้นที่ว่างแต่เป็นที่ตั้งของหน่วยงานหลายหน่วย อาทิอาคารกองร้อยทหารสารวัตร แผนกดับเพลิงฐานทัพเรือกรุงเทพ หมวดเรือของกองเรือลำน้ำ รวมทั้งยังมีอาคารสำนักงานราชนาวิกสภา กรมยุทธศึกษาทหารเรือ หลังเดิมตั้งอยู่ด้วย ดังนั้น คอป.จึงต้องพิจารณาหาสถานที่ที่จะย้ายหน่วยเหล่านี้ไปยังสถานที่ที่เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของหน่วยจนยอมรับไม่ได้ ซึ่งเป็นธรรมดาที่การย้ายหน่วยงานจำนวนมากตามข้างต้นย่อมเป็นการยากที่จะหาสถานที่ และงบประมาณมารองรับ มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย กว่าจะย้ายหน่วยออกไปได้ ก็ต้องเริ่มงานรื้อถอนอาคารไปควบคู่ไปกับการขนสิ่งของของหน่วยนั้น รวมทั้งต้องหาสถานที่ทิ้งซากอาคารจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่นำไปถมพื้นที่ที่สำนักงานวิจัยและพัฒนากองทัพเรือ พื้นที่ว่างของกองทัพเรือที่ศาลายา จังหวัดนครปฐม สำหรับสิ่งที่ยังพอใช้ประโยชน์ได้บ้าง อาทิ เศษไม้ นำไปใช้ประโยชน์ที่ศูนย์ฝึกทหารใหม่ เศษรั้วนำไปดัดแปลงใช้เป็นรั้วริมคลองบางนาที่สนามกอล์ฟราชนาวี บางนา (ท่านผู้อ่านที่เป็นนักกอล์ฟ หากไปเล่นกอล์ฟ ก็จะเห็นรั้วนั้น) โดยการจำหน่ายพัสดุก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบๆ ว่าด้วยการพัสดุ จึงมีงานเอกสารมากมายที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยกล่าวได้ว่า งานเตรียมพื้นที่ก่อสร้างก็เป็นภาระที่ต้องใช้เวลา และความพยายามพอสมควรอีกทั้งกำลังพลของหน่วยที่ต้องย้ายที่ตั้งย่อมต้องได้รับความลำบาก แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตามมาคือ หน่วยที่ต้องย้ายออกจากพื้นที่ก่อสร้างหลายหน่วยก็ได้อาคารหลังใหม่เช่น อาคารกองร้อย กรมสารวัตรทหารเรือ(อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง ๓ ชั้น)ริมคลองมอญ ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ อาคารหมวดเรือที่ ๓ กองเรือลำน้ำซึ่งย้ายไปอยู่ในพื้นที่กรมอู่ทหารเรือ ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายในการย้ายหน่วยต่าง ๆ มีวงเงินถึง ๗๗.๒ ล้านบาท เป็นงบประมาณของกองทัพเรือเอง รัฐบาลไม่ได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมให้

     ในเรื่องของแบบที่จะก่อสร้างนั้น นาวาเอก ระพี ศรีศุกรี เป็นสถาปนิกที่ออกแบบตัวอาคารหอประชุม ซึ่งเดิมแบบที่จัดทำไว้มีความประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่ประชุมในระดับกองทัพ มีความสวยงาม และหรูหราพอสมควร อาทิ มีหินทรายแกะสลักขนาดใหญ่บริเวณโถงทางเข้า (มูลค่าประมาณ ๒ ล้านบาท) โคมไฟระย้าในห้องประชุมใหญ่ (มูลค่าประมาณ ๖ ล้านบาท)เป็นต้น แต่เมื่อจะต้องใช้ประชุมในระดับนานาชาติ ต้องเพิ่มเติมความสวยงามและหรูหราขึ้นไปอีก จึงได้มีการปรับปรุงแบบพอสมควร อาทิ ทางเข้าหลัก เดิมอยู่ทางทิศใต้ ก็ต้องปรับมาเป็นทิศตะวันออก และสร้างศาลาทรงไทย เป็นโถงทางเข้าและโถงบันไดใหม่ โดยโถงทางเข้าเดิมก็ไม่ได้ยกเลิก หอประชุมกองทัพเรือ จึงเป็นหอประชุมที่มีโถงสองด้าน แตกต่างจากหอประชุมอื่นที่มีด้านเดียว มีการปรับย้ายตำบลที่ของห้องบางห้อง เช่นห้องเตรียมอาหารให้อยู่ในที่ที่เหมาะสม การปรับรูปลักษณ์ภายนอกให้ดูอ่อนช้อย สวยงาม และเป็นแบบไทย เช่น ปุ่มหัวเสา (หัวเม็ด) ศาลาทรงไทย สระบัวรูปโค้ง เป็นต้น กล่าวได้ว่าปรับปรุงแบบไปมาก มีการแก้ไขสัญญามากมาย

      อาคารหอประชุมกองทัพเรือนั้น เป็นอาคารขนาดใหญ่ คอป. จึงได้จัดทำแผนงานและตรวจสอบประมาณการความก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา โดยจัดทำ Perth – CPM ซึ่งตั้งแต่แรกเริ่มของการดำเนินการก็พบแล้วว่าน่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จไม่ทันเวลา กองออกแบบ กรมช่างโยธาทหารเรือ ซึ่งขณะนั้น นาวาเอก ศรินาท ศิริรังษี เป็นผู้อำนวยการฯ จึงได้เสนอให้ปรับวิธีการก่อสร้าง จากเดิมที่ใช้วิธีเทคอนกรีตคานวางแผ่นพื้น แล้วเทคอนกรีตพื้นอาคารทุกชั้นไปเป็นการเทคอนกรีตพื้นโดยเทคนิคPost Tension การปรับวิธีการข้างต้นเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การก่อสร้างมีความเป็นไปได้ที่จะแล้วเสร็จทันเวลา

     สำหรับแบบของสิ่งก่อสร้างอื่นนั้นจัดทำโดยสถาปนิกของ กองออกแบบ กรมช่างโยธาทหารเรือ ซึ่งมีเกร็ดที่จะขอกล่าวถึงในที่นี้ คือ แบบของอาคารจอดรถนั้น ใช้เทคนิคการก่อสร้างแบบ Knock Down เป็นแห่งแรกในประเทศไทยใช้เวลาก่อสร้างเพียง๒๐๐ วันเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่กล้าหาญพอสมควรที่ใช้เทคนิคก่อสร้างที่ไม่เคยมีใครใช้ในประเทศไทยมาก่อนเช่นนี้ จนเมื่อสร้างเสร็จใหม่ ๆ เจ้าหน้าที่ที่ทราบวิธีการก่อสร้างไม่แน่ใจ ที่จะนำรถส่วนตัวไปจอด แต่ปัจจุบันได้พิสูจน์แล้วว่ามีความมั่นคงแข็งแรงนอกจากนี้ สะพานข้ามคลองมอญซึ่งก่อสร้างใหม่ สถาปนิกได้ไปเลียนแบบมาจากสะพานข้ามคลองในวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม (จากการสอบถามพระที่วัดเรียกว่าสะพานถ้วย) และก่อสร้างโดยไม่มีเสาตอม้อ เส้นทางข้ามสะพานไม่เป็นเส้นตรงแต่มีความโค้ง ราวสะพานมีลวดลายที่สวยงามมาก มีสัดส่วนสะพานที่ลงตัว จนเมื่อสร้างเสร็จได้รับการกล่าวขวัญว่า เป็นสะพานที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันยังไม่มีการตั้งชื่อสะพาน ยังคงเรียกกันว่า”สะพานข้ามคลองมอญ

     โครงการทั้งหมด มีสัญญาก่อสร้างมากกว่า ๑๖ สัญญา มีผู้รับจ้างมากมาย เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ที่จำกัด จึงมีปัญหาการจัดเส้นทางลำเลียงและสถานที่วางวัสดุรอก่อสร้างจำนวนมากปัญหาสำคัญที่สุดคือ ผู้รับจ้างหลายรายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายหลักมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน จนผู้ขายวัสดุก่อสร้างจะส่งพัสดุให้ก็ต่อเมื่อได้รับเงินสดจึงต้องติดตามแก้ปัญหานี้ตลอดระยะเวลาก่อสร้างโดยการเจรจากับผู้ขายวัสดุก่อสร้างให้คำรับรองการชำระเงิน การเจรจากับธนาคารผู้ค้ำประกัน จนถึงต้องหาแหล่งเงินมาให้ผู้รับจ้างก่อสร้างก่อน ซึ่งคงไม่มีใครสบายใจที่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องเช่นนี้

      การเร่งรัดติดตามงานนั้น คอป. ได้ดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เมื่อปรากฏว่าเกิดปัญหา จะหาหนทางปฏิบัติและสั่งการแก้ปัญหาทันที เป็นเหตุให้บางครั้งผู้รับจ้างบางรายไม่รับการติดต่อ เปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ ไม่พักอาศัยในที่ประจำคอป.ต้องจัดเจ้าหน้าไปติดตามตัว เพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็ว ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงวันขึ้นปีใหม่ และวันสงกรานต์ ซึ่งแก้ไขปัญหาโดย ขอรับการสนับสนุนข้าราชการทหารจากกรมก่อสร้างและพัฒนา และศูนย์ฝึกทหารใหม่มาเสริมแรงงานของผู้รับจ้างโดยทหารกองประจำการจะได้รับเงินค่าแรงจากผู้รับจ้างโดยตรง ปรากฏว่าทหารฯสามารถก่อสร้างโดยมีประสิทธิภาพ มากกว่าแรงงานของผู้รับจ้างที่เป็นช่างก่อสร้างเพราะความมีระเบียบวินัย เคร่งครัดในการปฏิบัติตามที่ได้รับมอบ งานก่อสร้างจึงรวดเร็ว กลับกลายเป็นว่าแรงงานของผู้รับจ้างมาเสริมแรงงานทหาร แต่ในส่วนที่เป็นงานที่ต้องใช้ความชำนาญก็ยังต้องใช้แรงงานฝีมือจากภายนอกซึ่งกรมช่างโยธาทหารเรือ ก็ต้องไปเสาะแสวงหาแรงงานให้กับผู้รับจ้างเสมอ ๆ กล่าวได้ว่างานก่อสร้างส่วนใหญ่สำเร็จได้ด้วยแรงงานทหารเมื่องานก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จ คอป. ได้จัดทำประกาศนียบัตรมอบให้ทหารเหล่านั้นเพื่อเป็นความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการประชุมเอเปก ๒๐๐๓

     ระหว่างการก่อสร้างนั้น นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มาตรวจความก้าวหน้าในการก่อสร้าง ได้มีดำริว่า อาคารกรมสวัสดิการทหารเรือหลังเดิมบดบังทัศนียภาพของพระบรมมหาราชวัง จึงให้กองทัพเรือปรับปรุง ซึ่ง คอป. ก็ได้เสนอให้รื้อปรับปรุงจากเดิมที่เป็นอาคาร ๓ ชั้นให้เป็นอาคารชั้นเดียว และให้ใช้เป็นที่ตั้งของหมวดเรือบริการ กรมการขนส่งทหารเรือ ซึ่งเดิมมีที่จอดเรือบริเวณที่ก่อสร้างอาคารหอประชุมกองทัพเรือ โดยต้องมีสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่เรือด้วยด้วยมีเหตุผลว่า กองทัพเรือไม่มีที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งอื่นที่จะเป็นที่ตั้งของหน่วยเรือ ดังกล่าว และได้เสนอเหตุผลดังกล่าวประกอบการขออนุมัติงบประมาณการปรับปรุงอาคารกรมสวัสดิการทหารเรือจากคณะรัฐมนตรีไว้ด้วย เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญต่อไปในอนาคตว่าที่ดินผืนนี้นั้นกองทัพเรือจำเป็นต้องใช้ในภารกิจ อันจะเป็นการรักษาที่ดินกองทัพเรือไว้ ด้วยเหตุนี้หมวดเรือบริการฯ จึงมีที่ตั้งอยู่ทางฝั่งพระนคร ในขณะที่กรมการขนส่งทหารเรือมีที่ตั้งทางฝั่งธนบุรี ทั้งนี้ พื้นที่กรมสวัสดิการทหารเรือเดิม ต่อมาเป็นที่ตั้งของกรมกิจการพลเรือนทหารเรือ และสมาคมภริยาทหารเรือด้วย

      จากการปรับปรุงอาคารตามข้างต้นเป็นผลให้ต้องหาสถานที่ปฏิบัติงานใหม่ให้แก่กรมสวัสดิการทหารเรือ คอป. จึงได้เสนอให้เช่าอาคารของเอกชนเป็นที่ทำการชั่วคราว ในระหว่างที่การก่อสร้างอาคารกรมสวัสดิการทหารเรือหลังใหม่ โดยไม่ให้เจ้าหน้าที่ของกรมสวัสดิการทหารเรือไปปฏิบัติงานในอาคารที่กองทัพเรือมีอยู่แล้วเพื่อเป็นการแสดงว่า กองทัพเรือไม่สามารถจัดอาคารใด ๆ เป็นที่ตั้งกรมสวัสดิการทหารเรือได้ จำเป็นต้องได้รับงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลมาก่อสร้างใหม่ ทั้งนี้ ด้วยเจตนารมณ์ที่จะให้กรมสวัสดิการทหารเรือได้มีอาคารที่สง่างามเหมาะสมเป็นการถาวร ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของกรมสวัสดิการทหารเรือจึงต้องรับผลกระทบโดยไปเช่าอาคารธนาลงกรณ์ (ตั้งอยู่ใกล้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า)เพื่อปฏิบัติงานเป็นเวลาประมาณ ๑๑ เดือนซึ่งเป็นครั้งแรกที่กองทัพเรือเช่าอาคารเป็นที่ทำการให้แก่หน่วยงานระดับกรมผลของการดำเนินการดังกล่าว นับว่าคุ้มค่าเพราะทำให้กองทัพเรือได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารกรมสวัสดิการทหารเรือวงเงิน ๕๕ ล้านบาท พร้อมทั้งค่าเช่าอาคารเอกชน รวมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เดือนละประมาณ ๑ ล้านบาท เป็นวงเงินประมาณ ๑๑ ล้านบาท จากรัฐบาลเป็นผลให้ปัจจุบันกรมสวัสดิการทหารเรือ มีอาคารหลังใหม่ที่สง่างามเป็นที่ทำการอยู่ในพื้นที่นันทอุทยาน

     หน่วยงานอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับผลกระทบด้วย คือโรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ ที่ต้องรื้อถอนอาคารแผนกทันตกรรม แผนกรังสี และอาคารฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างลานจอดรถยนต์ของอาคารราชนาวิกสภา ทำให้แพทย์ พยาบาล ต้องย้ายไปทำการรักษาผู้ป่วยในอาคารที่เหลือของโรงพยาบาลเป็นเวลากว่า ๒ ปี โดยโรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพ ต้องใช้เงินรายรับสถานพยาบาลในการปรับปรุงสถานที่กว่า ๗ ล้านบาท แต่ก็เป็นการเสียสละที่น่าคุ้มค่าเช่นกัน เพราะรัฐบาลก็ได้อนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างอาคารทดแทนอาคารที่ต้องรื้อถอนจำนวน ๔๕ ล้านบาทก่อสร้างอาคารหลังใหม่ในพื้นที่โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพซึ่งปัจจุบันคือ อาคารศูนย์ทันตกรรมกรมแพทย์ทหารเรือ

     ในระหว่างที่การดำเนินการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ใกล้จะแล้วเสร็จ ในการประชุมด้านการรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้นำชาติต่าง ๆ นั้น ได้มีข้อห่วงใยจากหน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัยและกระทรวงการต่างประเทศ ว่าควรปรับปรุงกระจกของอาคารราชนาวิกสภาหลังเดิม และส่วนต่อเติมให้เป็นกระจกกันกระสุน รวมทั้งจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดฝ้าที่กระจกซึ่งจะบดบังการชมการแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารคจำลอง ด้วยเกรงว่าในระหว่างการแสดงนั้น หากมีฝนตกจะทำให้ความชื้นในอากาศสูง แต่อุณหภูมิภายในห้องต่ำจากการทำงานของเครื่องปรับอากาศ อาจจะทำให้เกิดละอองน้ำจับตัวที่ผิวกระจก คอป.ได้ดำเนินการในเรื่องนี้โดยเสนอกระทรวงการต่างประเทศว่ามีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งกระจกนิรภัยกันกระสุน วงเงิน ๒๗ ล้านบาท และติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกเพื่อลดความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิภายนอกกับภายในห้อง รวมทั้งเคลือบสารเคมีลดการเกาะตัวของไอน้ำที่กระจก วงเงินประมาณ ๗ แสนบาทเนื่องจากต้องใช้งบประมาณสูง รัฐบาลจึงไม่ได้จัดสรรงบประมาณค่ากระจกนิรภัยให้ดังนั้น กระจกของอาคารราชนาวิกสภา จึงไม่กันกระสุนปืน

     การก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่หอประชุมกองทัพเรือ อาคารราชนาวิกสภาพื้นที่กรมสวัสดิการทหารเรือ (เดิม) แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา รวมระยะเวลาก่อสร้าง ๒๘๗ วันเท่านั้น ซึ่งหากพิจารณาถึงปริมาณงาน จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ หอประชุมและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆได้ถูกใช้งานในการประชุมเอเปก ๒๐๐๓ อย่างสมเกียรติของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมของประเทศไทย กองทัพเรือได้รับคำสดุดีมากมาย ไม่เฉพาะในเรื่องการก่อสร้างหอประชุมกองทัพเรือเท่านั้น  แต่ยังมีเรื่องการจัดการแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารค การบรรเลงเพลงของกองดุริยางค์ทหารเรือ การให้การต้อนรับ และการรักษาความปลอดภัยในฐานะหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ในขณะที่ พลเรือเอก ชุมพล ปัจจุสานนท์ เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งเรื่องเหล่านั้นก็น่าจะมีการถ่ายทอดรายละเอียดไว้ให้เป็นที่ทราบเช่นกัน

      เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างหอประชุมกองทัพเรือตามข้างต้นนั้นได้กล่าวถึงเฉพาะเรื่องที่สำคัญเท่านั้น ในการดำเนินการจริงยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นความจริงซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้เลย คือการได้มา และการดำเนินงานเพื่อก่อสร้างอาคารหอประชุมกองทัพเรือ การปรับปรุงอาคารราชนาวิกสภา สิ่งอำนวยความสะดวกอาคารกรมสวัสดิการทหารเรือ อาคารกราบพักทหาร กรมสารวัตรทหารเรืออาคารศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพฯ และอีกหลายอาคารสิ่งก่อสร้างรวมทั้งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น อยู่ในห้วงที่ผู้บัญชาการทหารเรือถึง ๓ ท่าน เป็นผู้บริหารกองทัพเรือ ซึ่งท่านได้ริเริ่ม/ให้การสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จ ที่สำคัญผู้วางแผน อำนวยการ และรับผิดชอบคือ คอป. รวมทั้งผู้ปฏิบัติตั้งแต่ ศูนย์จัดการงานก่อสร้างอาคารของกองทัพเรือสำหรับการประชุม เอเปก ๒๐๐๓ ผู้รับจ้างหลาย ๆ ราย ไปจนถึงทหารที่ทำการก่อสร้างล้วนต้องทุ่มเทสติปัญญา ความพยายามความอดทน ความเสียสละเป็นอย่างยิ่งเรื่องราว ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นที่ชัดเจนว่า กว่าจะมาเป็นหอประชุมกองทัพเรือนั้น  ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

หมายเหตุ